8 วิธีการสร้างคำในภาษาอังกฤษพื้นฐาน (Basic English Word Formation)

 



ในภาษาอังกฤษมีวิธีการสร้างคำมากมาย แต่ขอสรุปวิธีการสร้างคำพื้นฐานจากหนังสือ Contemporary Linguistics: An Introduction (3rd Edition) โดย O’Grady, W., Michael D., and Aronoff M. (1997) ดังนี้ 

1. Derivation คือ การสร้างคำโดยยึดจากรากศัพท์ หนังสือบางเล่มใช้คำว่า Affixiation หมายถึง การสร้างคำโดยการเติมคำเข้าไปที่รากศัพท์เดิม 

คำเติม (Affix) นั้นมี 2 แบบ คือ 1. การเติมหน้าคำ หรืออุปสรรค (Prefix) และ 2. การเติมหลังคำ หรือปัจจัย (Suffix) เข้าไปที่ตัวรากศัพท์เดิม (Root) เช่น un-count-able = uncountable แปลว่า ซึ่งไม่สามารถนับได้  มาจาก Un- = prefix / count = root / -able = suffix 


2. Compounding = การสร้างคำโดยการนำคำ 2 คำ มาผสม/รวมกัน จนกลายเป็น 1 คำ เช่น nation + wide  = nationwide / spoon + fed = spoonfed เป็นต้น  พวก Compounding สามารถเขียนได้ 3 แบบ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของคำนั้น ๆ เป็นหลัก (เช่น คำว่า check-in ไม่นิยมเขียนแบบนี้ checkin มักมีเครื่องหมายขีดระหว่างคำเสมอ เพื่อเลี่ยงความสับสน เช่น คำว่า Inter-course (มีเครื่องหมายขีดกลาง Inter-course =International course)กับ Intercourse (ไม่มีเครื่องหมายขีดกลาง) สองคำนี้มีความหมายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้เขียนว่าจะสื่อถึงอะไร และเขียนให้ถูกต้องตามบริบทที่ต้องการจะสื่อ หากเขียนผิดพลาด มันก็จะกลายเป็นคำอื่นทันที และความหมายจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ตัวบริบทอาจจะพอช่วยได้ เช่น James did an intercourse in linguistics. ในบริบทนี้คำว่า intercourse ตกเครื่องหมายขีด แต่บริบทพอจะช่วยให้เข้าใจได้ว่า ผู้เขียนต้องการจะบอกว่า เขาได้ลงเรียนคอร์สนานาชาติทางภาษาศาสตร์แล้ว เพราะเราดูจากคำที่เป็น clue words เช่น did (a course) / linguistics เราก็พอเข้าใจได้ว่า ผู้เขียนต้องการสื่อความหมายถึงอะไร) คือ 

1. เขียนชิดกัน เช่น tea + pot  = teapot 

2. เขียนห่างกัน เช่น lunch + break = lunch break 

3. เขียนแบบมีเครื่องหมายขีดกลางระหว่างคำ เช่น check + in = check-in 

ทั้ง 3 แบบด้านบนนี้จัดเป็น Compounding ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่า คำผสมพวกนั้นมีวิธีการเขียนแบบไหน ก็ต้องยึดตามรูปแบบคำนั้น ๆ และที่สำคัญคือ เราต้องการเขียนแบบอังกฤษ หรือแบบอเมริกัน เพราะมันมีข้อแตกต่างในการเขียนพวกคำผสมอยู่เล็กน้อย เช่น check-up (UK) เขียนแบบอังกฤษจะมีเครื่องหมายขีดระหว่างคำ แต่ถ้าเขียนแบบอเมริกัน จะไม่มีเครื่องหมายขีดระหว่างคำ Checkup (US) เป็นต้น

*ส่วนใหญ่ UK เน้นเครื่องหมายขีดในคำนามผสม ขณะที่ US จะไม่เน้นเครื่องหมายขีดในคำนามผสม 


3. Conversion คือ การสร้างคำโดยการเพิ่มหน้าที่ของคำเข้าไปที่คำใดคำหนึ่ง เพื่อทำให้คำนั้นมีหน้าที่ในการใช้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น คำว่า favorite เดิมทีทำหน้าที่เป็นคำนามและคำคุณศัพท์เท่านั้น แต่ตอนหลังพจนานุกรมได้ขยายหน้าที่ให้คำว่า favorite เป็นคำกริยาได้ด้วย 

คำว่า favorite จากเดิมที่ใช้เป็นคำนามและคุณศัพท์ ถูกเปลี่ยนแปลงโดยการเพิ่มหน้าที่เข้าไป เพื่อให้คำนี้ทำหน้าที่เป็นคำกริยา (Word class) ได้ด้วย 

สรุป favorite จึงมี 3 หน้าที่หลักคือ คำนาม คำคุณศัพท์ และคำกริยา ดังตัวอย่างด้านล่างนี้ 

He is my favorite. = นาม 

This is my favorite movie. = คุณศัพท์ 

I usually favorite blog posts. กริยา 


4. Clipping คือ การสร้างคำโดยการตัดพยางค์ 1 พยางค์ หรือมากกว่า 1 พยางค์ เพื่อให้คำนั้นเป็นคำใหม่ที่สั้นลงและสะดวกต่อการนำไปใช้มากขึ้น โดยเฉพาะพวกชื่อคน เช่น  Robinson = Rob /  hamburger = burger / political science = poli-sci เป็นต้น สังเกตว่าทุกคำจะตัดพยางค์ในคำทั้งหมด อย่างน้อย 1 พยางค์ 


5. Blending (Blends) คือ การสร้างคำโดยเอาคำ 2 คำ มารวมกันเป็น 1 คำใหม่ เช่น 

Brunch มาจาก 2 คำที่รวมกันคือ breakfast + lunch = brunch  

Smog มาจาก 2 คำที่รวมกันคือ smoke + fog = smog  

*การสร้างคำในลักษณะแบบนี้เรียกว่า Blending


6. Backformation คือ การสร้างคำโดยการตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของคำนั้นออก (เน้นตัดท้ายคำ) หรือการตัดพวกคำเติมออก (Affix หมายถึง ตัวเติม/คำเติม ซึ่งมี 2 ประเภทหลักคือ prefix  = ตัวเติมหน้าคำ และ suffix  = ตัวเติมหลังคำ) เข้าไปที่คำรากศัพท์ (Root) ของคำนั้น เช่น Congratulations! กลายเป็น Congrats! / Donation กลายเป็น Donate สังเกตว่ามีการตัดตัวเติมท้ายคำออก (Suffix) เพื่อสร้างคำใหม่ให้เกิดความสะดวกในการใช้อย่างคำว่า Congrats! และบางคำก็มีหน้าที่ใหม่ที่ต่างจากเดิม เช่น Donate มีหน้าที่เป็นคำกริยา จากเดิมที่เป็นคำนามคือ Donation 


7. Acronym คือ คำย่อ ที่มาจากการนำตัวอักษรตัวแรกของคำสมบูรณ์มาเรียงกัน จนกลายเป็น 1 คำย่อ เช่น

National Aeronautics and Space Administration = NASA  = คำย่อ ซึ่งคำย่อจะสามารถอ่านออกเสียงราวกับว่าเป็น 1 คำได้ และมีความหมายในตัวของมัน เราจึงเรียกว่า คำย่อ นั่นเอง

*อย่าสับสันกับ Abbreviation คือ ตัวย่อ เช่น Automated Teller Machine = ATM แบบนี้คือ ตัวย่อ เพราะว่าเราไม่สามารถออกเสียงราวกับเป็น 1 คำได้ เราต้องออกเสียงทีละตัวอักษรเท่านั้น และนี้คือข้อแตกต่างจาก Acronym (คำย่อ)


8. Onomatopoeia คือ การสร้างคำโดยการเลียนแบบเสียงตามธรรมชาติ หรือการสร้างคำแบบอิงเสียงธรรมชาติ เช่น Ouch! เป็นคำที่สื่อถึงเสียงร้องของคนตอนเจ็บ / Bang! เป็นคำที่สื่อถึงเสียงปืน / Tick เป็นคำที่สื่อถึงเสียงนาฬิกา เป็นต้น 








อ้างอิงจาก: O’Grady, W., Michael D., and Aronoff M. (1997). Contemporary Linguistics: An Introduction. 3rd Edition. Bedford: St. Martins Press.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความแตกต่างระหว่าง maid และ housekeeper แบบย่อ

จับจุดอ่อนของ Informality (ความไม่เป็นทางการในการใช้ภาษาพื้นฐาน)

10 คำคม