กรงนก vs การศึกษาไทย

กรงนก vs การศึกษาไทย โดยสังเขป
 

โดย ทวีศักดิ์ จันทร์ประดิษฐ
ภาพจาก Pantip.com



วันนี้ผมไปท่าวัง นครศรีธรรมราช ไปเห็นกรงนกมีนกอยู่พร้อมอาหาร ผมเลยนึกถึงด้านมืดของการศึกษาไทย เลยคิดเชิงเปรียบเทียบในใจว่า

นก = นักเรียน
อาหาร = ความรู้ที่ครูป้อนให้
กรง = ระบบการศึกษา
คนให้อาหาร = ครู


1. นักเรียน - ประเด็นที่เคยเป็นข่าวก็คือ นักเรียนไทยใช้เวลาเรียนในโรงเรียนมากที่สุดในโลกหลายชั่วโมงต่อปี น่าภูมิใจแทนผู้ปกครองมาก บางคนเรียนพิเศษด้วย แต่ไม่ได้คิดถึงอนาคตว่านักเรียนพวกนี้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนตลอดชีวิต เขาต้องทำงาน หาเงิน เลี้ยงครอบครัว ต่างจากเด็กต่างประเทศที่มีการเรียนในโรงเรียนน้อย แต่เน้นปฏิบัติมากๆ เน้นการทำงานเป็นทีม ระดมสมอง ทักษะต่างๆ แม้กระทั่งลูกชายคนโตของ เดวิด เบคเเฮม ก็ยังต้องทำงานเอง หาเงินเองด้วยการเป็นเด็กเสริฟ เพื่อให้เขามีประสบการณ์การทำงาน การอยู่ร่วมกับคน และอื่นๆ เพราะประเด็นนี้ทำให้กระทรวงศึกษาธิการไทยตื่นและระลึกรู้ได้ว่าไม่มีประโยชน์ต่อนักเรียน เลยทำให้ลดชั่วโมงน้อยลง ใส่กิจกรรมภาคปฏิบัติเข้าไปเเทน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่าง สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย นั้นไปเลยเส้นชัยเเล้ว แต่เรายังเพิ่งเริ่มต้น อย่างน้อยก็ดีกว่าช้ากว่านี้


2. ความรู้ - เราถูกป้อนความรู้จากครูมากเกินไปจนทำให้เราหาความรู้เองไม่เป็น จริงๆบทบาทของครูต้องแนะนำ อบรมสั่งสอนให้เด็กคิดเป็น สร้างความกระหายในการหาความรู้เองเป็น และเปิดโอกาสให้ซักถามสิ่งใหม่ๆตลอดเวลา การเรียนแบบรับความรู้อย่างเดียวจากคุณครูนั้นฝรั่งใช้คำว่า (Spoon-fed learning) ต่างจากการสอนของฝรั่งที่นักเรียนจะต้องหาข้อมูล ความรู้มาพูด โต้แย้งในชั้นเรียนให้อาจารย์ เพื่อนๆฟัง และเปิดโอกาสสำหรับคำถาม เป็นการเรียนแบบเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered learning) ไม่ใช่ถือหนังสือมายืนอ่านให้นักเรียนฟังเพราะมันไม่ได้อะไรใหม่ ให้นักเรียนไปอ่านเองที่บ้านจะดีกว่า ต้องสอนอ้างอิงข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้หลายหลาก นำสิ่งใหม่ๆเข้ามาให้เกิดความสนใจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยนำไปสู่ความรู้ใหม่ และเป็นความรู้ใหม่ที่ต่อยอดไปอย่างไม่มีสิ้นสุด


3. ระบบการศึกษาไทย - จริงๆเด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ระบบทำให้เด็กไม่เก่ง เพราะการศึกษาไทยเน้นให้เด็กเรียนเพื่อสอบ จบออกมาก็ไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนไปใช้ได้จริงๆ เพราะเราไม่เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เราเรียนรู้จากหนังสือเป็นส่วนใหญ่ ขาดกิจกรรมเชิงปฏิบัติจริงๆที่มหาลัยชั้นนำของโลกเขาทำกัน อย่างเช่น การทำวิจัยภาคสนาม การทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับชาวบ้าน เรียนรู้ประสบการณ์จากชาวบ้าน ฝึกทำงานภาคสนาม ลงพื้นที่จริง ส่วนใหญ่เเล้วนักเรียนไทยจะอยู่แต่ในชั้นเรียน (กรง) ไม่ได้เข้าไปสัมผัสโลกภายนอกมากเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้เราอ่อนทักษะชีวิต หลักธรรมในพระพุทธศาสนาสอนว่า ต้องศึกษา และปฏิบัติตามไปด้วย เพื่อผลที่ดี (ปริยัติ / ปฏิบัติ / ปฏิเวธ)


4. ครู - จรรยาบรรณของครูนั้นสำคัญมากๆต่อนักเรียน เพราะครูคือผู้นำจิตวิญญาณแห่งการศึกษา หลายกรณีที่เราเห็นในประเทศไทย เช่น ครูทิ้งเด็ก ไม่เข้าสอน / เข้าสอนไม่ตรงเวลา / งานเอกสารมากกว่างานสอน / ติดผลงานวิชาการจนลืมหน้าที่หลักของตัวเอง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำลายนักเรียนทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว นักเรียนที่หลงเข้าไปในสถาบันที่มีลักษณะแบบนี้จะประสบปัญหาในอนาคตแน่นอน ดังนั้นครูต้องเป็นครูจริงๆ แล้วนักเรียนจะได้อะไรมากๆ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความแตกต่างระหว่าง maid และ housekeeper แบบย่อ

จับจุดอ่อนของ Informality (ความไม่เป็นทางการในการใช้ภาษาพื้นฐาน)

10 คำคม